เรื่อง โรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ






ใบความรู้ที่ 1.1
เรื่อง สถานการณ์ผู้สูงอายุในปัจจุบัน
จากความสำเร็จความก้าวหน้าด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทย ทำให้ลดอัตราการเพิ่มประชากรได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้จำนวนและสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กล่าวคือสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีสูงขึ้น จนกลายเป็นประเทศของสังคมผู้สูงวัย คือมีประชากรสูงอายุมากกว่าร้อยละ 10 อย่างไรก็ตามสังคมไทยได้เริ่มเตรียมการล่วงหน้ามาบ้างแล้ว เช่น แผนพัฒนาประเทศ แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ และ แผนอื่นๆ ให้ความสำคัญและมีเรื่องของการพัฒนาเพื่อผู้สูงอายุอยู่ด้วยเสมอมา
ประชากรผู้สูงอายุเพิ่มจากร้อยละ 10.7 ในปี 2550 หรือ 7.0 ล้านคน เป็นร้อยละ 11.7 หรือ 7.5ล้านคน ในปี 2553 และร้อยละ 20.0 หรือ 14.5 ล้านคนในปี 2568 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2551) นับว่าอัตราการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วมาก ซึ่งหมายความว่าประเทศไทยมีเวลาสั้นมากที่จะเตรียมการเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุทั้งในด้านสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ องค์การสหประชาชาติ ให้นิยามว่าประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเป็นสัดส่วน ร้อยละ 10 หรือ อายุ 65 ปีขึ้นไปเกินร้อยละ 7 ของจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศถือว่าประเทศนั้นได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุและจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์เมื่อสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มเป็นร้อยละ 20 หรืออายุ 65 ปีขึ้นไปเพิ่มเป็นร้อยละ 14 “การเปลี่ยนแปลงทางสังคมไทย” (ออนไลน์เข้าถึงได้จาก : http://www.agingthai.org/page/1042) เมื่อแบ่งผู้สูงอายุออกเป็น 3 กลุ่มตามช่วงวัยพบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 57.8) เป็นผู้สูงอายุวัยต้น (60-69 ปี) ร้อยละ 31.7 เป็นผู้สูงอายุวัยกลาง (อายุ 70-79 ปี) และร้อยละ 9.5 เป็นผู้สูงอายุวัยปลาย (อายุ 80 ปี ขึ้นไป) ซึ่งต้องพึ่งพาสูง (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2551)
เอกสารอ้างอิง และแหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม
1.             ออนไลน์เข้าถึงได้จาก : http://www.agingthai.org/page/1042
2.             สำนักงานสถิติแห่งชาติ. รายงานการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.. 2550. กรุงเทพฯ : ธนาเพลส, 2551.












ใบความรู้ที่ 1.2
เรื่อง โครงสร้างประชากรของประเทศไทย
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร
โครงสร้างอายุประชากรของประเทศไทยในช่วง 60 ปี (.. 2513–2573) ซึ่งเป็น ปิรามิดที่เพิ่งเริ่มโครงการวางแผนครอบครัว มีฐานกว้างมากเนื่องมาจากสัดส่วนของประชากรวัยเด็ก (อายุ 0-14 ปี) สูง โดยที่ประชากรวัยแรงงานซึ่งอยู่ส่วนกลางของปิรามิด ก็มีจำนวนมากเช่นกัน ในขณะที่ส่วนบนของปิรามิด จะแคบเนื่องมาจากประชากรวัยสูงอายุยังมีสัดส่วนต่ำ
อีก 20 ปี ต่อมา (ปี พ.. 2553) พบว่าปิรามิดมีฐานแคบลงเนื่องมาจากสัดส่วนของประชากรวัยเด็กลดลงโดยที่ประชากรวัยแรงงานซึ่งอยู่ส่วนกลางของปิรามิดมีจำนวนมากกว่าวัยเด็ก เนื่องจากประชากรวัยเด็กในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเติบโตเป็นประชากรวัยแรงงาน ในขณะที่บางส่วนของปิรามิดจะค่อยๆขยายกว้างขึ้นเนื่องมาจากประชากรวัยสูงอายุมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
อีก 20 ปี ต่อมา (ปี พ.. 2553) พบว่า ปิรามิดมีฐานแคบลงไปอีก เนื่องมาจากสัดส่วนของประชากรวัยเด็กลดลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากอัตราการเกิดลดลงมาอีก ในขณะที่ส่วนบนของปิรามิดขยายกว้างขึ้นเรื่อยๆประชากรวัยแรงงานซึ่งอยู่ส่วนกลางของปิรามิดได้เคลื่อนตัวไปสู่ปิรามิดที่สูงขึ้น ในขณะเดียวกันประชากรวัยสูงอายุก็มีสัดส่วนที่สูงขึ้นด้วย เนื่องมาจากคนที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ยุค baby boom) ได้เคลื่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ ประกอบกับประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น
ในอนาคตอีก 20 ปี (ปี พ.. 2573) ปิรามิดประชากรจะมีฐานแคบลงไปอีก โดยสัดส่วนของประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานลดลง อันเนื่องมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ส่วนบนของปิรามิดจะขยายกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ โดยประชากรวัยสูงอายุจะมีสัดส่วนสูงขึ้นถึง 2 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2553เนื่องมาจากคนที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มาถึงวัยสูงอายุ และประชากรมีอายุยืนยาวขึ้นอีกสังคมไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ (สถานการณ์ผู้สูงอายุไทย 2550, มูลนิธิ มสผส.)
ปิรามิดแสดงประชากรของประเทศไทย

ใบความรู้ที่ 1.3
เรื่อง สถานะสุขภาพผู้สูงอายุ และความจำเป็นในการดูแลผู้สูงอายุ
เมื่อมีอายุมากขึ้น การทำงานในระบบต่างๆ ของร่างกายค่อยๆ เสื่อมถอยลง ส่งผลทำให้มีระดับการช่วยเหลือตนเองลดลง และจากการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์ การพยาบาล และการสาธารณสุขทำให้อัตราการตายด้วยโรคติดเชื้อเกือบหมดไป มีอัตราการรอดชีวิตเพิ่มขึ้นและมีอายุยืนยาวขึ้น อย่างไรก็ตามกลับพบว่าผู้รอดชีวิตเหล่านั้นมักมีความพิการหลงเหลือ
นอกจากนี้ ผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคไร้เชื้อ เช่นความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือไขมันในเลือดสูงกลับพบมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น รักษาไม่หาย มีภาวะพึ่งพาต้องการการดูแลแบบต่อเนื่อง และการดูแลระยะยาว จากข้อมูลรายงานการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.. 2550 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าผู้สูงอายุประเมินภาวะสุขภาพทั่วๆไปโดยรวมของตนเองในระหว่าง 7 วันก่อนสัมภาษณ์ ร้อยละ 43.0 ของผู้สูงอายุประเมินว่าตนเองมีสุขภาพดี ร้อยละ 28.9 ประเมินว่าตนเองมีสุขภาพปานกลาง ร้อยละ 21.5 ประเมินว่าตนเองมีสุขภาพไม่ดี ร้อยละ 2.8 ประเมินว่าตนเองมีสุขภาพไม่ดีมากๆ มีเพียงร้อยละ 3.8 ที่ประเมินว่าตนเองมีสุขภาพดีมาก และในเรื่องของการมองเห็น พบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 53.7) มองเห็นได้ชัดเจน 1 ใน 4 (ร้อยละ 25.4) ของผู้สูงอายุมองเห็นได้ชัดเจนเมื่อใส่แว่นหรือเลนส์ตา ร้อยละ 20.5 มองเห็นไม่ชัดเจน และร้อยละ 0.4 มองไม่เห็นเลย
ยิ่งอายุมากขึ้นฟันแท้ก็ยิ่งเหลือน้อยลง ประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวอาหารขึ้นอยู่กับการดูแลสุขภาพในช่องปากของแต่ละคน เกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 48.6) ของผู้สูงอายุมีฟันแท้เหลืออยู่น้อยกว่า 20 ซี่ ซึ่งในทางการแพทย์ระบุว่าการมีฟันน้อยกว่า 20 ซี่ จะทำให้มีความยากลำบากในการบดเคี้ยวอาหาร มีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคขาดสารอาหารและน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
โรคเรื้อรังที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ จำนวน 6 โรค ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 31.7 โรคเบาหวานร้อยละ 13.3 โรคหัวใจร้อยละ 7.0 เป็นอัมพาต / อัมพฤกษ์ ร้อยละ 2.5 โรคหลอดเลือดในสมองตีบ ร้อยละ 1.6 และโรคมะเร็ง ร้อยละ 0.5 กลุ่มผู้สูงอายุวัยกลาง (70-79 ปี) มีสัดส่วนของการเป็น โรคความดันโลหิตสูงเบาหวาน หัวใจ และหลอดเลือดในสมองตีบสูงกว่ากลุ่มผู้สูงอายุวัยต้น (60-69 ปี) และวัยปลาย (80 ปีขึ้นไป) ในขณะที่ผู้สูงอายุวัยปลายพบอุบัติการณ์ของโรค อัมพาต / อัมพฤกษ์
การสำรวจในประเทศไทย พบว่าร้อยละ 69.3 ประชากรในกลุ่มอายุ 60-69 ปี เป็นโรคเรื้อรังและพบเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น และเพิ่มเป็นร้อยละ 83.3 ในกลุ่มที่มีอายุ 90 ปีขึ้นไป พบว่ามีภาวะเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง 6 โรคพร้อมกันถึงร้อยละ 70.8
ปัญหาสุขภาพสำคัญของผู้สูงอายุที่พบคือ ปวดข้อ และปวดหลังเรื้อรัง พบมีความชุกถึง 1 ใน 3 ของปัญหาสุขภาพอื่นๆ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่พบบ่อยได้แก่โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด

ตารางที่ 10 ร้อยละของผู้สูงอายุที่เป็นโรคเรื้อรัง จำแนกตามประเภทของโรคที่เป็น กลุ่มช่วงวัย และเพศ พ.. 2550
โรคเรื้อรัง
รวม
กลุ่มช่วงวัย
เพศ
วัยต้น
(60-69 ปี)
วัยกลาง
(70-79 ปี)
วัยปลาย
(80 ปีขึ้นไป)
ชาย
หญิง
ความดันโลหิตสูง
31.7
28.9
35.9
34.6
26.7
35.7
เบาหวาน
13.3
13.5
13.9
10.5
9.5
16.4
หัวใจ
7.0
5.7
9.0
8.4
5.0
8.6
อัมพาต/อัมพฤกษ์ 
2.5
1.8
3.1
4.8
2.7
2.3
หลอดเลือดในสมองตีบ
1.6
1.3
2.0
1.6
1.5
1.6
มะเร็ง 
0.5
0.4
0.5
0.5
0.4
0.6
ความดันโลหิตสูง & เบาหวาน & หัวใจ
1.5
1.3
1.7
1.6
1.0
1.9
ความดันโลหิตสูง & หลอดเลือดในสมองตีบ
1.0
0.8
1.4
1.3
0.8
1.2
ความดันโลหิตสูง & หลอดเลือดในสมองตีบ & อัมพาต/อัมพฤกษ์
0.3
0.2
0.4
0.5
0.3
0.3
อุบัติการณ์ภาวะทุพพลภาพของผู้สูงอายุไทย พบ 1 ใน 4 ของผู้สูงอายุมีปัญหาสุขภาพที่เป็นเหตุให้ไม่สามารถทำกิจกรรมที่เคยทำได้ ทั้งนี้ร้อยละ 18.9 มีปัญหาเหล่านี้มานานกว่า 6 เดือน ซึ่งถือว่ามีปัญหาทุพพลภาพระยะยาว อัตราความชุกเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้นและพบในผู้หญิงมากกว่าชาย ร้อยละ 7 ของผู้สูงอายุไทย ต้องพึ่งพาในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันและมีการพยากรณ์ว่า ปี พ.. 2553, 2563 และ 2573 จะมีผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพา จำนวนถึง 499,837 คน, 741,766 คน และ 1,103,754 คน ตามลำดับและร้อยละ 85.2 มีสาเหตุการสูญเสียปีสุขภาวะเนื่องจากโรคไม่ติดต่อ



แม้ว่าการชราภาพเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ภาวการณ์เจ็บป่วยเรื้อรังที่ก่อให้เกิดภาวะทุพพลภาพนั้นสามารถป้องกันหรือชะลอให้เกิดขึ้นช้าลงได้ด้วยทั้งมาตรการด้านการแพทย์ และสาธารณสุข ตลอดจนมาตรการด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้มีผู้เสนอทฤษฎีเกี่ยวกับผลของอัตราตายที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจะมีผลให้มีจำนวนผู้สูงอายุที่อยู่กับภาวะเจ็บป่วยเรื้อรังและพิการเพิ่มขึ้น (the expansion of morbidity (Gruenber, 1977 ) ) ส่วนทฤษฎีที่สองนั้นเชื่อว่าในทิศทางตรงกันข้ามคือ เชื่อว่าการเจ็บป่วยและความพิการในผู้สูงอายุนั้นสามารถป้องกันและชะลอได้ ดังนั้นอายุที่ยืนยาวมากขึ้นจะเป็นจำนวนปีที่มีสุขภาพดี (The Compression of mobility (Fries, 1980, Fries, 1989) ส่วนทฤษฎีที่สามนั้นเชื่อในเรื่องหลักของความสมดุล (The dynamic equilibrium (Manton 1982) ทั้งนี้ข้อมูลจากการศึกษาต่างๆ พบว่าเป็นไปไม่ได้ทั้งสามทิศทาง คือ แย่ลง ดีขึ้นและไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาเปลี่ยนไป
จากแนวคิดของทฤษฎีที่เชื่อว่า จำนวนปีที่ยืนยาวมากขึ้นนั้นสามารถทำให้เป็นปีที่มีสุขภาพดีปราศจากความพิการได้ และจะมีผลให้ภาวะเจ็บป่วยในกลุ่มผู้สูงอายุลดลงนั้น จำเป็นต้องมีมาตรการด้านการป้องกันโรคที่มีประสิทธิผลต่อการลดการเจ็บป่วยมากกว่าลดการตาย โดยการเจ็บป่วยที่มีภาวะทุพพลภาพเรื้อรังนั้นมีความสัมพันธ์กับผลสะสมของพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ดี และมลภาวะแวดล้อมซึ่งสามารถป้องกันและหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น ทฤษฎีดังกล่าวจะเป็นจริงได้จำเป็นต้องทำให้ วิถีชีวิต พฤติกรรมสุขภาพ และปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อสุขภาพถูกสุขลักษณะมากขึ้น
เนื่องจากปัญหาของผู้สูงอายุส่วนใหญ่ เกิดจากภาวะเสื่อมถอยของร่างกาย การเจ็บป่วยเรื้อรังและมีภาวะทุพพลภาพร่วมด้วย ภาวะดังกล่าวไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้เพียงด้านเดียวโดยเฉพาะในกลุ่มอายุมากๆ เช่นเกินกว่า 70 ปี
ปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุแสดงให้เห็นชัดเจนว่ามุมมองสุขภาพเชิงการแพทย์ (biomedicine mode) นั้นแคบเกินไป และต้องการมุมมองสุขภาพที่กว้างขึ้น ในการอธิบายปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุ มุมมอง สุขภาพในปัจจุบันให้ความสำคัญกับเรื่อการเสื่อมถอยของอวัยวะน้อยลงโดยให้ความสำคัญกับปฏิสัมพันธ์ของ ร่างกายต่อสิ่งแวดล้อมในสังคมมากขึ้น ดังนั้นการเป็นโรคและการเสื่อมถอยของร่างกายในผู้สูงอายุนั้น อาจหลีกเลี้ยงไม่ได้ แต่ภาวะดังกล่าวไม่ได้เกิดจากอายุเพียงลำพัง แต่เกิดจากสภาพแวดล้อม พฤติกรรม และการดำรงชีวิตที่ผ่านมาของบุคคลนั้นๆ องค์การอนามัยโลกได้นิยามสุขภาพในมิติที่กว้างขึ้นว่าภาวะสมบูรณ์ทั้งด้านกายสังคม และจิต” (State of complete physical, Social, and mental Well – being) (WHO, 1985) (“คู่มือการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวกรมอนามัย, 2553) จากเหตุผลความจำเป็นดังกล่าวการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุจึงเป็นประเด็นที่สำคัญ
เอกสารอ้างอิง และแหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม
1.             กรมอนามัย. การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว. กรุงเทพฯ : ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย, 2553.
2.             The Compression of mobility. Fries, 1980, Fries, 1989.
3.             State of complete physical, Social, and mental Well – being. (WHO, 1985)
4.             The dynamic equilibrium (Manton 1982)
ใบงานที่ 1.1
คำชี้แจง
ให้ผู้เข้ารับการอบรม แบ่งกลุ่มตามความเหมาะสมของผู้เข้ารับการอบรม ไม่ควรเกิน 6-10 คนร่วมกันอภิปรายเรื่องสถานะสุขภาพผู้สูงอายุและการดูแลผู้สูงอายุมีความจำเป็นอย่างไรในประเด็น
1.             สถานะสุขภาพผู้สูงอายุไทย เป็นอย่างไรในปัจจุบัน
2.             การเจ็บป่วยของผู้สูงอายุเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมสุขภาพเป็นอย่างไร
3.             การดูแลผู้สูงอายุมีความจำเป็นอย่างไร
4.             สมาชิกกลุ่มเลือกผู้แทนนำเสนอ
5.             วิทยากรให้คำแนะนำ อธิบาย และสรุป















แผนการสอนที่ 2
เรื่อง แนวคิดเกี่ยวกับผู้สูงอายุ
วัตถุประสงค์การเรียนรู้
วัตถุประสงค์ทั่วไป
เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรม มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องแนวคิดและทฤษฎีผู้สูงอายุกระบวนการชราและการเปลี่ยนแปลงในวัยสูงอายุ
วัตถุประสงค์เฉพาะ เมื่อสิ้นสุดการอบรมแล้ว ผู้เข้ารับการอบรมสามารถ
1.             อธิบายถึงแนวคิดและทฤษฎีผู้สูงอายุได้
2.             อธิบายถึงกระบวนการชราและการเปลี่ยนแปลงในวัยสูงอายุได้
เป้าหมาย
ผู้เข้ารับการอบรม มีความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องแนวคิดและทฤษฎีผู้สูงอายุ กระบวนการชรา และการเปลี่ยนแปลงในวัยสูงอายุ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการดูแลผู้สูงอายุ และสร้างความตระหนักในการดูแลผู้สูงอายุซึ่งมีความแตกต่างจากกลุ่มวัยอื่นๆ
เนื้อหาวิชา
1.             แนวคิดเกี่ยวกับการสูงอายุ
2.             ทฤษฎีการสูงอายุ : ทฤษฎีทางชีวภาพ ทฤษฎีทางจิตวิทยา ทฤษฎีการสูงอายุทางสังคม
3.             กระบวนการชรา การเปลี่ยนแปลงในวัยสูงอายุ : ด้านร่างกาย ด้านจิตใจ และด้านสังคม
ระยะเวลา ทฤษฎี 4 ชั่วโมง
รูปแบบ / วิธีการสอน
­                   การบรรยาย
­                   ถามตอบ คำถามกลุ่มใหญ่
­                   การแสดงบทบาทสมมติ







ขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม
1.             วิทยากรนำเข้าสู่บทเรียนด้วยคำถามเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในวัยสูงอายุ ไฟล์นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการสูงอายุ ทฤษฎีการสูงอายุ การแบ่งประเภทผู้สูงอายุ กระบวนการชราและการเปลี่ยนแปลงในวัยสูงอายุ
2.             แบ่งกลุ่มแสดงบทบาทสมมติเป็นผู้สูงอายุกลุ่มต่างๆ
3.             แบ่งกลุ่มผู้เข้ารับการอบรมเป็น 3 กลุ่ม แสดงบทบาทสมมติเป็นผู้สูงอายุกลุ่มต่างๆ และเสนอแนวความคิดเห็นของสมาชิกกลุ่ม
4.             วิทยากรสรุปพร้อมให้ข้อเสนอแนะ
สื่อประกอบการเรียนการสอน/อุปกรณ์
1.             หนังสือคู่มือแนวทางการอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุระยะยาว
2.             สื่อการอบรม : ไฟล์นำเสนอ โปสเตอร์ แผ่นพับ
3.             สื่ออุปกรณ์อื่นๆ เช่น แว่นตา เทปกาว ไม้เท้า ประกอบการแสดงบทบาทสมมติ
คำแนะนำสำหรับวิทยากร
1.              วิทยากรควรจัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆสนับสนุนการแสดงบทบาทสมมติของผู้เข้ารับการฝึกอบรมเพื่อจูงใจให้ผู้เข้ารับการอบรมสนใจและร่วมแสดงความคิดเห็น
2.              วิทยากรควรเตรียมโจทย์ตัวอย่าง ผู้สูงอายุกลุ่มที่ 1 (ติดสังคม) : ผู้สูงอายุที่พึ่งตนเองได้ ช่วยเหลือผู้อื่น ชุมชนและสังคมได้ ผู้สูงอายุกลุ่มที่ 2 (ติดบ้าน) : ดูแลตนเองได้บ้าง ช่วยเหลือตนเองได้บ้าง ผู้สูงอายุ กลุ่มที่ 3 (ติดเตียง) กลุ่มที่พึ่งตนเองไม่ได้ พิการ หรือทุพพลภาพ
การประเมินผล
1.             สังเกตการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในกลุ่ม
2.             สังเกตการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมกลุ่ม
3.             ประเมินจากการถาม ตอบ










ใบความรู้ที่ 2.1
เรื่อง แนวคิดเกี่ยวกับการสูงอายุ
ความคาดหมายการคงชีพของประชากรจากอายุ 60 ปี สูงขึ้น แม้แต่ในประเทศกำลังพัฒนาประชากรไม่เพียงแต่อายุยืนขึ้น แต่ยังมีสุขภาพที่จะนำชีวิตไปสู่ความสำเร็จได้ แพทย์ทางชราภาพวิทยาจำแนกผู้สูงอายุไว้ดังนี้ คือ อายุ 60-70 ปี เรียกว่าผู้สูงอายุวัยต้น (young old) และ อายุ 70 หรือ 75 ปีขึ้นไปเรียกว่าผู้สูงอายุวัยสูงอายุ (old old)
ลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้สูงอายุเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็นในอดีต คือมีจำนวนมากที่มีระดับการศึกษาสูงขึ้น มีสถานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น โดยมีรายได้ (บำนาญ ดอกเบี้ยจากเงินสะสวม, ปันผลจากการลงทุน ฯลฯ) เป็นของตนเอง ประสบการณ์การทำงานและวิถีชีวิตแตกต่างจากรุ่นของบิดามารดาตนเอง โครงสร้างทางครอบครัวก็เปลี่ยนแปลงไป บุตรจะไม่อยู่ภายใต้การดูแล แนะนำ หรือควบคุมของผู้สูงอายุ มักจะออกไปหางานทำที่เมืองอื่น หรือแยกครอบครัวไป ผู้สูงอายุยอมรับแนวคิดใหม่ที่เกษียณอายุ การทำงานหลัง 60 ปี ถอนตัวจากบทบาททางเศรษฐกิจ สังคมและจำกัดการใช้ชีวิตอยู่กับศาสนา ใช้เวลาว่างอย่างมีความสุขให้เวลาผ่านไป ผู้สูงอายุจำนวนมากต้องการใช้ชีวิตเพื่อความสำเร็จของครอบครัวและชุมชน (วิทยาลัยประชากรศาสตร์ http://www.cps.chula.ac.th)
ผู้สูงอายุคือปูชนียบุคคล คือคลังสมอง คือภูมิปัญญาของแผ่นดิน ถึงแม้นว่าผู้สูงอายุจะมีปัญหาด้านสุขภาพอนามัยและมีความต้องการ การดูแลเอาใจใส่จากครอบครัวและชุมชน แต่ถ้าผู้สูงอายุมีสุขภาพแข็งแรงและมีสุขภาพจิตดี ก็จะสามารถช่วยเหลือสังคมได้อย่างมีคุณค่า การส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี จึงเป็นประเด็นสำคัญ การพัฒนาสุขภาพผู้สูงอายุให้มีสุขภาพดี ต้องคำนึงถึงการให้บริการส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวมอย่างเป็นระบบและบูรณาการ ทั้งด้านการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care: LTC) และการส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย จึงได้จัดทำ แนวทางการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาวและ แนวคิดการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวดังนี้
เอกสารอ้างอิง และแหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม
1.             กรมอนามัย. การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว. กรุงเทพฯ : ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย, 2553.
2.             วิทยาลัยประชากรศาสตร์ http://www.cps.chula.ac.th


ใบความรู้ที่ 2.2
เรื่อง ทฤษฎีการสูงอายุ
ความพยายามค้นหาคำตอบว่าทำไมคนถึงแก่ชรายังคงมีอยู่ แม้ว่าจะไม่มีใครเอาชนะความชราได้ก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ทางชีวภาพ จิตวิทยา และสังคมศาสตร์ได้พยายามสรุปสาเหตุของความชราไว้ 2 ประการคือ 1. พันธุกรรม และ 2 สิ่งแวดล้อม ซึ่งพิจารณาจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกของสิ่งมีชีวิตและพยายามศึกษามนุษย์ให้ครอบคลุมแบบองค์รวม นักทฤษฎีทั้ง 3 สาขาต่างยอมรับว่าความรู้จากศาสตร์สาขาใดสาขาหนึ่ง ก็ยังไม่สามารถอธิบายกระบวนการแก่ชราได้อย่างสมบูรณ์ จึงเสนอแนวคิดเพื่อนำมาใช้อธิบายกระบวนการชราของมนุษย์ให้ชัดเจนที่สุด ประกอบด้วยทฤษฎี 3 กลุ่ม ได้แก่
ทฤษฎีทางชีววิทยา (Biological Theory)
ทฤษฎีทางจิตวิทยา (Psychological Theory)
ทฤษฎีทางสังคม (Sociological Theory)

1.              ทฤษฎีทางชีววิทยา (Biological Theory) อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของร่างกายมนุษย์แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ทฤษฎีด้านพันธุกรรม ทฤษฎีอวัยวะ
ทฤษฎีสรีรวิทยาทฤษฎีด้านพันธุกรรม ประกอบด้วย
-                   ทฤษฎีวิวัฒนาการ หรือ ทฤษฎีเซลล์ ร่วมอธิบายว่าสิ่งมีชีวิตต่างก็มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการตลอดเวลา
-                   ทฤษฎีนาฬิกาชีวิต หรือ ทฤษฎีการถูกกำหนด อธิบายว่าอายุขัยของคนถูกกำหนดไว้แล้วโดยรหัสพันธุกรรม ถ้าบรรพบุรุษมีอายุยืน ลูกหลานก็จะมีอายุยืนยาวตามไปด้วย
-                   ทฤษฎีการกลายพันธ์ เกิดจากการได้รับรังสีทีละเล็กทีละน้อยเป็นประจำ จนเกิดการเปลี่ยนแปลง DNA และเกิดการเปลี่ยนแปลงของ Cell หรืออวัยวะในระบบต่างๆทำให้เกิดการแบ่งตัวผิดปกติ (Mutation) เกิดมีโรคภัยไข้เจ็บหรือเกิดมะเร็ง
-                   ทฤษฎีการสะสมความผิดพลาดของเซลล์ หรือทฤษฎีโมเลกุลอธิบายว่าความแก่เกิดจากนิวเคลียสของ cell มีการถ่ายทอด DNA ที่ผิดปกติไปจากเดิมทำให้ Cell ใหม่ที่ได้แตกต่างไปจาก cell เดิมทฤษฎีอวัยวะ อธิบายว่าเมื่ออวัยวะมีการใช้งานย่อมมีการเสื่อมเกิดขึ้น เช่น
-                   ทฤษฎีความเสื่อมโทรม ความแก่เป็นกระบวนการเกิดขึ้นเองเมื่ออวัยวะมีการใช้งานมากย่อมเสื่อมได้ง่ายและเร็วขึ้น เมื่ออายุมากขึ้น
-                   ทฤษฎีระบบประสาทและต่อมไร้ท่อ เมื่อเข้าสู่วัยชราการทำงานของระบบสมองและประสาทจะลดลง ความจำจะเสื่อมลง
-                   ทฤษฎีสะสมของเสีย เมื่อสิ่งมีชีวิตอายุมากขึ้น ของเสียจะถูกสะสม ทำให้ cell เสื่อมและตายเพิ่มขึ้นสิ่งที่พบได้แก่ Lipofuscin ซึ่งเป็นสารสีดำไม่ละลายน้ำเป็นสารประกอบจำพวก Lipoprotion


2.              ทฤษฎีทางจิตวิทยา (Psychological Theory)
ทฤษฎีทางจิตวิทยาเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพ และพฤติกรรมของผู้สูงอายุเป็นการปรับตัวเกี่ยวกับความนึกคิด ความรู้ ความเข้าใจ แรงจูงใจการเปลี่ยนแปลงไปของอวัยวะรับสัมผัสทั้งหลายตลอดจนสังคมที่ผู้สูงอายุนั้นๆอยู่อาศัยได้แก่ ทฤษฎีบุคลิกภาพ กล่าวว่าผู้สูงอายุจะมีความสุขหรือความทุกข์นั้นขึ้นอยู่กับภูมิหลังและการพัฒนาจิตใจของบุคคลนั้น ถ้าพัฒนาด้วยความมั่นคง อบอุ่นถ้อยทีถ้อยอาศัย เห็นใจผู้อื่น ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ก็มักจะเป็นผู้สูงอายุที่มีความสุข อยู่ร่วมกับบุตรหลานได้อย่างมีความสุข แต่ในทางตรงข้ามถ้าชีวิตที่ผ่านมาไม่สามารถทำงานร่วมมือกับใครได้ จิตใจคับแคบ ไม่รู้จักช่วยเหลือ เห็นใจผู้อื่นผู้สูงอายุผู้นั้นก็จะประสบปัญหาในบั้นปลายของชีวิต (Erikson, 1963 อ้างในเกษมและกุลยา ตันติผลาชีวะ, 2528)
3.              ทฤษฎีทางสังคม (Psychological Theory)
ทฤษฎีทางสังคมเป็นทฤษฎีที่กล่าวถึงบทบาทสัมพันธภาพและการปรับตัวในสังคมของผู้สูงอายุซึ่งพยายามวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุต้องมีการเปลี่ยนแปลงสถานภาพทางสังคมไป และพยายามที่จะช่วย
ให้ผู้สูงอายุมีการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
-                   ทฤษฎีกิจกรรมได้อธิบายถึงสถานภาพทางสังคมของผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ในทางบวกระหว่างการปฏิบัติกิจกรรมกับความพึงพอใจในชีวิตของผู้สูงอายุกล่าวคือเมื่อบุคคลมีอายุมากขึ้น สถานภาพและบทบาททางสังคมจะลดลงแต่บุคลยังมีความต้องการทางสังคมเหมือนบุคลในวัยกลางคน ซึ่งทฤษฎีนี้เชื่อว่าผู้สูงอายุมีความต้องการที่จะเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อความสุขและการมีชีวิตที่ดี
-                   ทฤษฎีการแยกตนเองหรือการถอยห่าง กล่าวถึงผู้สูงอายุเกี่ยวกับการถอยห่างออกจากสังคมผู้สูงอายุและสังคมจะลดบทบาทซึ่งกัน และกันอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามความต้องการของร่างกายและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากยอมรับว่าตนเองมีความสามารถลดลงสุขภาพเสื่อมลงจึงถอยหนีจากสังคมเพื่อลดความเครียดและรักษาสังขารพอใจกับการไม่เกี่ยวข้องกับสังคมต่อไปเพื่อถอนสภาพและบทบาทของตนให้แก่ ชนรุ่นหลัง กระบวนการถอยห่างมีลักษณะดังนี้ เป็นกระบวนการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป เป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ผู้สูงอายุพึงพอใจ เป็นสากลของทุกสังคม และสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเพื่อรักษาสมดุลของธรรมชาติ (http://pirun.ku.ac.th)
เอกสารอ้างอิง และแหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม
http://pirun.ku.ac.th




ใบความรู้ที่ 2.3
เรื่อง กระบวนการชรา และการเปลี่ยนแปลงในวัยสูงอายุ :
ด้านร่างกาย ด้านจิตใจ และด้านสังคม
กระบวนการชรา
กระบวนการชรา (Aging process) เป็นกระบวนการที่มีความซับซ้อน และมีความแตกต่างกันในแต่ละคนซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในร่างกายตั้งแต่ระดับเซลล์ เนื้อเยื่อ จนถึงอวัยวะ โดยการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดจากอิทธิพลของปัจจัยภายใน ได้แก่ พันธุกรรม และปัจจัยภายนอก ได้แก่ สิ่งแวดล้อมวิถีการดำเนินชีวิต ความเครียด เป็นต้น (Matteson, 1997) การเปลี่ยนแปลงของร่างกายอันเนื่องมาจากกระบวนการชราภาพนั้น ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติที่เราไม่อาจหลีกเลี้ยงหรือแก้ไขได้ อย่างไรก็ตามมักเกิดความเข้าใจผิดบ่อยๆ โดยคิดว่าการเปลี่ยนของร่างกายตามกระบวนการชราภาพเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากพยาธิสภาพของโรค ยกตัวอย่างเช่น ผู้สูงอายุมักเกิดรอยฟกช้ำได้ง่ายกับการกระแทรกกับสิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นผลจากการมีผิวหนังที่บางลงและเส้นเลือดเปาะ แตกง่าย อาการฟกช้ำทีเกิดขึ้นจะแตกต่างจากผู้ป่วยที่มีสภาวะเลือดออกง่ายจากเกร็ดเลือดต่ำ ดังนั้นในการดูแลผู้สูงอายุ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ดูแลจะต้องมีความรู้ เพื่อให้สามารถแยกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากกระบวนการชราภาพออกจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดพยาธิสภาพของโรค (กระบวนการชราภาพ : http://phudkrong.exteen.com)
การเปลี่ยนแปลงในวัยสูงอายุ
1.              การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย
ผิวหนัง บาง แห้ง เหี่ยว ย่น มีอาการคัน มีจ้ำเลือด เซลล์สร้างสีผิวทำงานลดลง สีผิวจางลงแต่อาจมีจุดด่างขาว สีดำ หรือสีน้ำตาลมากขึ้น เกิดเป็นการตกกระ
ต่อมเหงื่อ ลดน้อยลง การขับเหงื่อน้อยลง ทำให้ทนต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิของอากาศไม่ได้ดี เกิดความรู้สึกหนาว ร้อน ไม่คงที่
ผมและขน ร่วง เปลี่ยนเป็นสีขาว หรือหงอก ทำให้ผมบาง หัวล้าน ขนตามร่างกายหลุดง่าย ที่เห็นชัดคือ ขนรักแร้ ทั้งนี้ เนื่องมาจากรุขุมขนทำงานน้อย
ตา สายตาจะเปลี่ยนเป็นสายตายาว เลนส์หรือกระจกตาขุ่นเกิดต้อกระจกกล้ามเนื้อตาเสื่อม การปรับสายตาช้า ความไวในการมองภาพลดลง ทำให้ ปวดเวียนศีรษะได้ง่าย มีน้ำตาลดลง ทำให้ตาแห้งระคายเคืองต่อเยื่อบุตาได้ง่าย
หู ประสาทรับเสียงเสื่อมไปเกิดหูตึง แต่ได้ยินเสียงต่ำๆได้ชัดกว่าเสียงพูดธรรมดา หรือในระดับเสียงสูง
จมูก ประสาทรับกลิ่นบกพร่องไป ทำให้การรับรู้กลิ่นลดลง
ลิ้น รับรู้รสน้อยลง รับรสหวานสูญเสียก่อนรับรสอื่นๆ
ฟัน ผุ หักแตกง่าย เคลือบฟันบางลง เหงือกหุ้มคอฟันร่นลงไป

ต่อมน้ำลาย ขับน้ำลายออกน้อย ทำให้ปากแห้ง
การเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหาร น้ำย่อย กรดเกลือในกระเพาะอาหารลดน้อยลงอาหารอยู่ในกระเพาะอาหารนานขึ้นทำให้ท้องอืดง่าย เบื่ออาหารด้วยภาวะขาดอาหาร และโลหิตจางได้
ตับและตับอ่อน หน้าที่การทำงานเสื่อมไป อาจเกิดโรคเบาหวาน
การเคลื่อนไหวของลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ ลดลง ทำให้การขับถ่ายอุจจาระไม่ปกติ ท้องผูกเสมอ ประกอบกับไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย
กระดูก ปริมาณแคลเซียมลดน้อยลง ทำให้กระดูกบาง เปราะ พรุน หักง่าย มีอาการเจ็บปวดกระดูกบ่อย
ข้อเสื่อม น้ำไขข้อลดลง เกิดเจ็บปวด ข้อยึดติดเคลื่อนไหวลำบาก พบน้อยคือข้อเข่า ข้อสะโพก
กล้ามเนื้อ เหี่ยว เล็กลง อ่อนกำลังลง ทำให้ทำงานออกแรงมากไม่ได้ เพลีย ล้าเร็ว และทรงตัวไม่ดี
ปอด ความยืดหยุ่นของเนื้อปอดลดลงเป็นเหตุให้การขยายและยุบตัวไม่ดี ทำให้เหนื่อยง่าย
หัวใจ แรงบีบตัวน้อยลงทำให้การหดตัวลดลงปริมาณเลือดออกจากหัวใจลดลง และกล้ามเนื้อหัวใจไวต่อสิ่งเร้าลดลง
หลอดเลือด ผนังของหลอดเลือดมีลักษณะหนาและแข็งขึ้นเพราะมีไขมันมาเกาะเป็นสาเหตุของความดันโลหิตสูง
การขับถ่ายปัสสาวะ ไต มีหน้าที่เสื่อมไป ขับของเสียได้น้อยลง แต่ขับน้ำออกมามาก จึงถ่ายปัสสาวะมากและบ่อยขึ้นในเวลากลางคืน
กระเพาะปัสสาวะ กล้ามเนื้อ หูรูด ที่ควบคุมการถ่ายปัสสาวะหย่อนไป ทำให้กลั้นปัสสาวะได้ไม่ดีในผู้สูงอายุชายต่อมลูกหมากจะโตขึ้น ทำให้ปัสสาวะลำบาก ต้องถ่ายบ่อยครั้ง
ระบบประสาทและสมอง เสื่อมไปตามธรรมชาติ ทำให้ความรู้สึกช้า คามจำถดถอย ความจำเรื่องราวในอดีตดี ความจำปัจจุบันไม่ดี การเคลื่อนไหวช้า
ต่อมไร้ท่อ ผลิตฮอร์โมนต่างๆ ลดลง จึงทำให้หน้าที่ของฮอร์โมนเหล่านั้นลดลงไปด้วย
ต่อมเพศ ทำงานลดลง สมรรถภาพทางเพศลดลง
2.              การเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ ลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่พบในผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ได้แก่
2.1      การรับรู้ ผู้สูงอายุมักยึดติดกับความคิดและเหตุผลของตัวเองจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ยากเพราะมีความไม่มั่นใจในการปรับตัว
2.2      การแสดงออกทางอารมณ์ ลักษณะของความท้อแท้ ใจน้อย หงุดหงิดง่าย โกรธง่ายและซึมเศร้า
2.3      ความสนใจสิ่งแวดล้อมน้อยลง ผู้สูงอายุจะสนใจเฉพาะ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนเองมากกว่าเรื่องของผู้อื่น
2.4      การสร้างวิถีชีวิตของตนเอง เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับผู้อื่น พึ่งตนเองได้ในระดับหนึ่ง
2.5      ยอมรับสภาพของการเข้าสู่วัยสูงอายุ จะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการศึกษาปฏิบัติตามคำสอนในศาสนา บางคนอยากอยู่ร่วมกับลูกหลาน บางคนชอบอยู่คนเดียว ฯลฯ


3.              การเปลี่ยนแปลงทางสังคม
3.1  ภาระหน้าที่และบทบาททางสังคมจะลดน้อยลง ทำให้ผู้สูงอายุห่างไปจากสังคม
3.2  คนส่วนใหญ่มักมองว่าผู้สูงอายุมีสมรรถภาพและความสามารถน้อยลง จึงไม่ให้ความสำคัญหรือไม่ให้ความรับผิดชอบ
3.3  จากบทบาทที่เคยเป็นผู้นำครอบครัว จะกลายเป็นผู้อาศัยหรือผู้ตามในครอบครัว (คู่มือการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ. กรมอนามัย, 2547)
เอกสารอ้างอิง และแหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม
1.             คู่มือการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ. กรมอนามัย, 2547
2.             กระบวนการชราภาพ : http://phudkrong.exteen.com














ใบงานที่ 2.1
คำชี้แจง ให้ผู้เข้ารับการอบรมแบ่งเป็นกลุ่มแสดงบทบาทสมมุติเป็นผู้สูงอายุ ร่วมกันอภิปรายเรื่อง
1.             กระบวนการชราเป็นอย่างไร
2.             การเปลี่ยนแปลงในวัยสูงอายุเป็นอย่างไร
3.             ให้ผู้แทนกลุ่มนำเสนอ
4.             วิทยากรให้คำแนะนำ อธิบาย และสรุป


ใบงานที่ 2.2
คำชี้แจง ให้ผู้เข้ารับการอบรมแบ่งกลุ่ม แสดงบทบาทสมมุติและร่วมกันอภิปรายเรื่อง
1.             ผู้สูงอายุกลุ่มที่ 1 เป็นอย่างไร ประเมินอย่างไร
2.             ผู้สูงอายุกลุ่มที่ 2 เป็นอย่างไร ประเมินอย่างไร
3.             ผู้สูงอายุกลุ่มที่ 3 เป็นอย่างไร ประเมินอย่างไร
4.             ให้ผู้แทนกลุ่มนำเสนอ
5.             วิทยากรให้คำแนะนำ อธิบาย และสรุป



















แผนการสอนที่ 3
เรื่อง โรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ
วัตถุประสงค์การเรียนรู้
วัตถุประสงค์ทั่วไป
เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคที่พบบ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ อาการ พฤติกรรมเสี่ยงการป้องกันและการปฏิบัติตัวในการส่งเสริมสุขภาพ
วัตถุประสงค์เฉพาะ
เมื่อสิ้นสุดการอบรมแล้ว ผู้เข้าอบรมมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคที่พบบ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุอาการ พฤติกรรมเสี่ยง การป้องกันและการปฏิบัติตัวในการส่งเสริมสุขภาพ สามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดได้อย่างถูกต้อง
เนื้อหาวิชา
โรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ (ใบความรู้ที่ 3.1)
1.             การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ
2.             ความดันโลหิตสูง
3.             เบาหวาน
4.             ข้อเข่าเสื่อม
5.             ภาวะสมองเสื่อม
6.             หลอดเลือดหัวใจตีบ
7.             โรคมะเร็ง
8.             โรคตา
ระยะเวลา ทฤษฎี 7 ชั่วโมง
วิธีการสอน
-                   การบรรยาย
-                   การซักถาม
-                   การฝึกทำแบบประเมิน/แบบทดสอบและแปรผล





ขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม
1.         วิทยากรนำเข้าสู่บทเรียนเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุ ต่อด้วยความรู้เรื่อง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ข้อเข่าเสื่อม ภาวะสมองเสื่อม หลอดเลือดหัวใจตีบ โรคมะเร็ง และโรคตา
2.         แบ่งกลุ่มผู้เข้าอบรมเป็น 2-3 กลุ่ม เพื่ออภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
3.         สรุปบทเรียนจากการเรียนรู้ภายในกลุ่มและนำเสนอในการอบรมเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
สื่อประกอบการการเรียน / อุปกรณ์
สไลด์นำเสนอ แผ่นพับ โปสเตอร์ ภาพพลิก และอุปกรณ์อื่นๆ
คำแนะนำสำหรับวิทยากร
องค์ความรู้และกิจกรรมควรเน้นการประยุกต์ข้อมูลทฤษฎีที่ทันสมัยเพื่อนำมาสู่การวางแผนที่เหมาะสมในเรื่องโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ
การประเมินผล
-                   การสังเกต
-                   การซักถาม
-                   การแปรผลจากแบบประเมิน/แบบทดสอบได้ถูกต้อง






















ใบความรู้ที่ 3.1
เรื่อง โรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ
โรคเรื้อรัง …. กับผู้สูงอายุ
โรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ส่วนหนึ่ง การเจ็บป่วยจะสะสมตั้งแต่ในวัยหนุ่มสาวหรือวัยทำงาน แต่ไม่ได้ดูแลอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้อาการโรครุนแรงขึ้น ในวัยสูงอายุ หลายโรคเกิดจากการประพฤติปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมทั้งการบริโภคอาหาร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกายและขาดการควบคุมอารมณ์ที่ดี
1.            ความดันโลหิตสูง
ความดันโลหิต เป็นแรงดันเลือดที่เกิดจากหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ซึ่งวัดได้ 2 ค่า คือ
-                   ความดันโลหิตค่าบน คือ แรงดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบตัว
-                   ความดันโลหิตค่าล่าง คือ แรงดันโลหิตขณะที่หัวใจคลายตัว
ในคนปกติ ความดันโลหิต ไม่ควรเกิน 130/85 มิลลิเมตรปรอท (จากการประชุมร่วมขององค์การอนามัยโลก และ International Society of Hypertension ปี 1999)
ส่วนความรุนแรงของความดันโลหิตที่สูงนั้น ให้พิจารณาจากค่าความดันตัวบนและความดันตัวล่างทั้งสองค่า โดยถือระดับความดันโลหิตที่สูงกว่าเป็นเกณฑ์ เช่น ความดันโลหิต 150/110 มิลลิเมตรปรอทความดันตัวบน 150 มิลลิเมตรปรอท จะอยู่ในระดับอ่อน แต่ความดันตัวล่าง 110 มิลลิเมตรปรอท จะอยู่ในระดับรุนแรง ดังนั้น ผู้ป่วยรายนี้ก็ต้องจัดอยู่ในกลุ่มความดันโลหิตสูงระดับรุนแรง เป็นต้น
ตาราง แสดงความดันโลหิตสูงในระดับต่างๆ ซึ่งแบ่งตามความรุนแรงในผู้ใหญ่ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป
ระดับความดันโลหิต
ความดันตัวบน
(มม.ปรอท)
ความดันตัวล่าง
(มม.ปรอท)
ระดับ 1 ความดันโลหิตสูงอย่างอ่อน
140-159
90-99
ระดับ 2 ความดันโลหิตสูงปานกลาง
160-179
100-109
ระดับ 3 ความดันโลหิตสูงรุนแรง
>180
>109
ความดันโลหิตสูงเฉพาะตัวบน
>140
<90
สาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง
มากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงจะตรวจไม่พบสาเหตุ เชื่อว่าเกิดจาก 2 ปัจจัยใหญ่ คือ
1.          กรรมพันธุ์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่แก้ไขไม่ได้ จากหลักฐานทางระบาดวิทยา พบว่าผู้ที่มีบิดาหรือมารดาเป็นความดันโลหิตสูง มีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูงได้มากกว่าผู้ที่บิดามารดาไม่เป็น ยิ่งกว่านั้น ผู้ที่มีทั้งบิดาและมารดาเป็นความดันโลหิตสูง จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นมากที่สุด ผู้สูงอายุก็มีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูงเมื่ออายุมากขึ้นๆ
2.          สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัจจัยที่แก้ไขได้ เช่น ภาวะอ้วน เบาหวาน การรับประทานอาหารรสเค็ม การดื่มสุรา และการสูบบุหรี่ ภาวะเครียด เป็นต้น
ส่วนความดันโลหิตสูงที่มีสาเหตุพบได้น้อยกว่าร้อยละ 10 ผู้ป่วยในกลุ่มนี้แม้จะพบเป็นจำนวนน้อยแต่ก็มีความสำคัญ เพราะบางโรคอาจรักษาให้หายขาดได้ สาเหตุที่พบบ่อย คือ
-                   โรคไต
-                   หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงไตตีบ
-                   ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด
-                   หลอดเลือดแดงใหญ่ที่ออกจากหัวใจตีบ
-                   เนื้องอกของต่อมหมวกไต
อาการของโรคความดันโลหิตสูง
ความดันโลหิตสูงระดับอ่อน หรือปานกลาง มักจะไม่มีอาการอะไร แต่มีการทำลายอวัยวะต่างๆ ไปทีละน้อยอย่างช้าๆ จนผู้ป่วยเกิดผลแทรกซ้อนในที่สุด เช่น หัวใจล้มเหลว หัวใจขาดเลือด ไตเสื่อมสมรรถภาพหรืออัมพาต อัมพฤกษ์ ความดันโลหิตโลหิตสูงจึงมักได้รับการขนานนามว่าฆาตกรเงียบ
ความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรง ผู้ป่วยอาจเกิดอาการเหล่านี้ขึ้นได้ เช่น เลือดกำเดาออก ตามองไม่เห็นข้างหนึ่งชั่วคราว เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก เวียนศีรษะ ปวดศีรษะตุบๆ เป็นต้น แต่อาการเหล่านี้ไม่จำเพาะ เพราะอาจเกิดจากสาเหตุอื่นก็ได้ เช่น ไข้ เครียด ไมเกรน เป็นต้น
ดังนั้น เมื่อเกิดอาการผิดปกติ จึงความปรึกษาแพทย์ เพราะถ้าพบความดันโลหิตสูงมากจะได้รักษาได้ถูกต้อง และทันท่วงที ซึ่งเมื่อความดันโลหิตลดลงมาเป็นปกติ อาการดังกล่าวก็จะหายไป
ผลแทรกซ้อนของโรคความดันโลหิตสูง
ภาวะความดันโลหิตสูงที่เป็นอยู่นาน และไม่ได้รับการรักษา จะทำให้เกิดการทำลายของอวัยวะสำคัญต่างๆ ในร่างกายได้ เช่น หัวใจ สมอง ไต หลอดเลือด และตา เป็นต้น เพราะความดันโลหิตที่สูงที่เป็นอยู่นานจะทำให้ผนังหลอดเลือดแดงหนาตัวขึ้น และรูเล็กลง ทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ลดลง ส่งผลให้อวัยวะเหล่านี้ทำงานได้ไม่เป็นปกติ และหากทำลายรุนแรงมากพอ อาจทำให้ถึงแก่กรรมได้ ระยะเวลาที่เป็นความดันโลหิตสูง จนเกิดผลร้ายดังกล่าว จะขึ้นอยู่กับระดับความดันโลหิต เช่น ระดับอ่อน และปานกลาง จะใช้เวลานานมากกว่า 10 ปี ระดับรุนแรงจะใช้เวลาสั้นกว่านี้ ผลแทรกซ้อนของโรคความดันโลหิตสูงมีดังนี้
1.              หัวใจ
ความดันโลหิตสูง จะมีผลต่อหัวใจ 2 ทาง คือ ทำให้หัวใจโต และหลอดเลือดหัวใจหนาตัว และแข็งตัวขึ้น ทำให้เกิดการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด หรือหัวใจล้มเหลว ทำให้มีอาการเหนื่อยหอบ นอนราบไม่ได้ หรือหัวใจเต้นผิดปกติ ทำให้มีอาการใจสั่น
2.              สมอง
ความดันโลหิตสูง เป็นสาเหตุของอัมพาต อัมพฤกษ์ ที่พบบ่อย ซึ่งมักจะเกิดจากหลอดเลือดเล็กๆอุดตัน โดยเกล็ดเลือด ซึ่งพบบ่อย หรือ เกิดจากหลอดเลือดในสมองแตก ทำให้เลือดออกในสมอง
3.              ไต
เป็นอวัยวะที่มีหลอดเลือดมากที่สุดในร่างกาย ทำหน้าที่กรองของเสียออกจากเลือด ความดันโลหิตสูงก็มีผลต่อหลอดเลือดที่ไต เช่นเดียวกับหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เลือดไปเลี้ยงไตไม่พอ มีผลให้ไตเสื่อมสมรรถภาพ จนถึงขั้นไตวายเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีอาการเริ่มแรกของภาวะไตวายเรื้อรัง คือ ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ขาบวมตอนสาย หากเป็นมากจะมีอาการอ่อนเพลีย ไม่ค่อยมีแรงจากภาวะซีด ซึ่งมักพบในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง และคลื่นไส้ อาเจียน ซึมลง ในผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย
4.              ตา
ความดันโลหิตสูงจะมีผลต่อหลอดเลือดที่ตา เช่น เลือดออกที่จอตา หลอดเลือดเล็กๆ ที่จอตาอุดตัน หรือ ทำให้จอตาหลุดลอกออกได้ ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการใดๆ หรือตามัว จนถึงตาบอดได้ เบาหวาน ซึ่งมักพบร่วมกับความดันโลหิตสูง จะทำให้เกิดผลแทรกซ้อนทางตาได้เร็ว
5.              หลอดเลือด
ความดันโลหิตสูง จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดทั่วร่างกาย ทำให้หลอดเลือดตีบแคบ หรือโป่งพอง มีผลทำให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณแขนขา และอวัยวะภายในลดลง ผู้ป่วยเกิดไม่ได้ไกลเพราะปวดขาจากการขาดเลือด ต้องนั่งพักจึงจะหาย และเดือนต่อได้
จุดมุ่งหมายในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง
ปัจจุบัน ความดันโลหิตสูง จัดเป็นหนึ่งในกลุ่มของโรคที่ทำให้เกิดผลแทรกซ้อนของโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งรวมทั้งหลอดเลือดที่สมองและไตด้วย จุดมุ่งหมายของการรักษาภาวะความดันโลหิตสูง เพื่อลดอัตราทุพลภาพ และอัตราตาย ซึ่งจะเกิดจากภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจ และหลอดเลือดการดูแลเฉพาะแต่ความดันโลหิตสูงเท่านั้น จะทำให้ได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้น แพทย์ต้องค้นภาวะอื่นๆ ที่อาจพบในตัวผู้ป่วยด้วย เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ภาวะอ้วน ผนังหัวใจห้องซ้ายล่างหนา โรคเก๋าต์ เป็นต้น ซึ่งแพทย์จะต้องดำเนินการควบคุมและรักษาคู่ไปกับการรักษาความดันโลหิต จึงจะได้ผลดี และมีประสิทธิภาพเต็มที่
การรักษาโรคความดันโลหิตสูง
การรักษาผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ประกอบด้วย
1.              การรักษาโดยไม่ใช้ยา นั่นคือการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิต เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือด ซึ่งจะกล่าวรายละเอียดต่อไป
2.              การรักษาด้วยยา ซึ่งมีหลายกลุ่ม แพทย์สามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูง
ต่อไปนี้ เป็นขั้นตอนที่ท่านควรปฏิบัติเพื่อช่วยแพทย์ของท่านในการควบคุมความดันโลหิต
1.              การควบคุมอาหาร
-                   การลดน้ำหนัก สามารถช่วยลดความดันโลหิตได้ และช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด แม้ท่านจะไม่จัดว่าอ้วน แต่การลดอาหารประเภทไขมันก็เป็นสิ่งที่ดี
-                   หลีกเลี่ยง หรือลดการใช้เนย ไขมัน และน้ำมัน ในการปรุงอาหาร
-                   หลีกเลี่ยงอาหารทอด ให้รับประทานอาหารประเภทอบ นึ่ง ต้ม แทน
-                   รับประทานอาหารประเภทผัก ถั่ว ผลไม้ ให้มากขึ้น
-                   หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา
-                   ดื่มน้ำ กาแฟที่ไม่มีคาเฟอีน นมพร่องไขมัน และน้ำผลไม้
2.              รับประทานอาหารที่ไม่เค็มจัด
-                   การรับประทานเกลือมาก จะทำให้ความดันโลหิตสูง และไตทำงานหนัก การลดปริมาณเกลือในอาหาร ควรปรึกษาแพทย์ของท่านก่อน
-                   หลีกเลี่ยงอาหารประเภทของดองเค็ม เนื้อเค็ม ซุปกระป๋อง
-                   ใช้เครื่องเทศแทนเกลือ หรือผงชูรส
-                   รับประทานแต่อาหารว่างที่มีเครื่องหมายเกลือต่ำ” (low salt) หรือปราศจากเกลือ” (salt-free)
3.              หลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอารมณ์เครียด
-                   หากเป็นไปได้ พยายามเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมที่จะทำให้เครียด ทั้งที่ทำงาน และที่บ้าน
-                   พยายามตอบสนองอย่างมีสติ และนุ่มนวลต่อสภาวะเครียด ซึ่งท่านไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือหลีกเลี่ยงได้
4.              หยุดสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่ เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งในปอด อัมพาต โรคหัวใจขาดเลือด และความดันโลหิตสูงได้ บุหรี่ ทำให้เกิดการทำลาย และส่งเสริมการหดตัวของหลอดเลือด ทำให้เพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเกิดอัมพาต
5.              งด หรือ ลดการดื่มแอลกอฮอล์
การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก เป็นสาเหตุของความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูงควรงด หรือดื่มปริมาณน้อย เช่น ในวันหนึ่งๆ ไม่ควรดื่มสุราเกิน 60 ลบ.ซม เบียร์ไม่เกิน 720 ลบ.ซม. ไวน์ไม่เกิน 260 ลบ.ซม.
6.              ออกกำลังกายแต่พอประมาณ
การเดินวันละ 20-30 นาที จะช่วยท่านลดน้ำหนักได้ ช่วยทำให้ระบบไหลเวียนของเลือดดีขึ้นและป้องกันโรคของหลอดเลือดได้ ก่อนเริ่มออกกำลังกายใดๆ ควรปรึกษาแพทย์ของท่านก่อน
7.              รับประทานยาให้สม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง
-                   แจ้งให้แพทย์ท่านทราบถึงยาต่างๆ ที่ท่านรับประทานอยู่ เช่น ยาคุมกำเนิด ยาแก้ปวด เป็นต้น
-                   รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
-                   หากมียาชนิดใดที่ทำให้ท่านรู้สึกไม่สบาย ควรแจ้งให้แพทย์ของท่านทราบทันที เพราะว่าท่านอาจต้องการยาในขนาดที่ลดลง หรือเปลี่ยนยา
-                   รับประทานยาให้สม่ำเสมอ จนกว่าแพทย์ของท่านจะบอกให้หยุด
8.              ตรวจวัดความดันโลหิตสม่ำเสมอ
ในกรณีท่านมีเครื่องวัดความดันโลหิตที่บ้าน ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อเรียนรู้วิธีวัดความดันโลหิตที่ถูกต้อง อาจทำการวัดความดันโลหิตสัปดาห์ละครั้ง หรือเมื่อมีอาการเครียด ปวดศีรษะ ไม่จำเป็นต้องวัดความดันโลหิตถี่เกินความจำเป็น และควรจดบันทึกวัน เวลา ค่าที่วัดได้ทุกครั้ง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อแพทย์ของท่านในการควบคุมความดันโลหิต
2. เบาหวาน
เบาหวานเกิดจากร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลิน ทำให้เผาผลาญน้ำตาลในเลือดไม่ได้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นและขับออกทางปัสสาวะ เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงนานๆ จะทำให้หลอดเลือดเสื่อมและเสียหาย
อาการเบาหวาน
ปัสสาวะบ่อย ดื่มน้ำมาก กินเก่ง หิวบ่อย น้ำหนักลด รวมทั้งมีอาการจากร่างกายขาดน้ำ เช่นอ่อนเพลีย วิงเวียน มึนงง ตามัว คอแห้ง และสมรรถภาพทางเพศเสื่อม
ข้อแนะนำ
1)             ต้องรักษาต่อเนื่องยาวนานหรือตลอดชีวิตหารรักษาอย่างจริงจังจึงจะมีชีวิตปกติได้ ถ้ารักษาไม่จริงจัง จะอันตรายจากภาวะแทรกซ้อนได้มาก
2)             ผู้ป่วยที่กินยาหรือฉีดยารักษาเบาหวานอยู่ อาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำมีอาการใจหวิว ใจสั่นหน้ามืด ตาลาย เหงื่อออก ตัวเย็นเหมือนขณะหิวข้าว ถ้าน้ำตาลในเลือดต่ำมากๆ อาจเป็นลมหมดสติ หรือชักได้ผู้ป่วยควรระวังดูอาการดังกล่าว และพกพาน้ำตาลหรือของหวานติดตัวประจำ ถ้าเริ่มมีอาการดังกล่าว ให้ผู้ป่วยรีบกินน้ำตาลหรือของหวาน
3)             อย่าซื้อยาชุดกินเอง
4)             แนะนำให้ผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี และมีญาติพี่น้องเป็นเบาหวาน หรือ คนอ้วน ควรตรวจหาน้ำตาลในปัสสาวะหรือเลือดเป็นระยะ หากพบเป็นเบาหวาน ในระยะเริ่มแรกจะได้รักษาแต่เนิ่นๆ
การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเบาหวาน
1)             พบแพทย์และตรวจปัสสาวะ และตรวจเลือดตามที่แพทย์นัด
2)             กินยาลดน้ำตาล หรือฉีดอินซูลิน และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำแพทย์
3)             ควรควบคุมอาหารการกินอย่างเคร่งครัด เช่น กินอาหารให้พอดี ไม่กินจุบจิบ งดเว้นอาหารหวานๆ อาหารประเภทแป้งและไขมัน โดยเฉพาะไขมันจากกะทิ
4)             ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง
5)             พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้ร่าเริง ไม่เครียด ไม่วิตกกังวล
6)             งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
7)             หมั่นดูแลรักษาความสะอาดเท้า ไม่สวมรองเท้าที่คับเกินไป ถ้ามีแผลที่เท้าต้องรีบรักษาทันที
8)             มีลูกอมหรือน้ำตาลติดตัวไว้เสมอ
9)             ควรมีบัตรหรือสัญลักษณ์ที่แสดงว่าเป็นผู้ป่วยเบาหวานติดตัวตลอด

3. ข้อเข่าเสื่อม
ผู้สูงอายุจะเริ่มมีการข้อเสื่อมขึ้นกับการใช้งานข้อและสภาพร่างกายถ้าน้ำหนักมากน้ำหนักจะกดกระแทกข้อ ข้อจะเสื่อมเร็ว ถ้าใช้งานข้อมากๆ เช่น เดินมาก ยืนมาก หรือเดินขึ้นลงบันไดมากๆ นั่งยองๆ มากข้อจะเสื่อมเร็ว
อาการ
ปวดข้อ ในระยะแรกจะปวดเมื่อเดินมาก ยืนมาก หรือเดินขึ้นลงบันไดมากๆ อาจมีเสียงดังกร๊อบแกร๊บในข้อ
ข้อแนะนำ
-                   ถ้าผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวมากให้ลดน้ำหนัก โดยการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย
-                   ลดการใช้งานข้อเข่า เช่น หลีกเลี่ยงการนั่งยองๆ ควรใช้ส้วมนั่งราบ หลีกเลี่ยงการเดินขึ้นลงบันไดมากๆ เพื่อป้องกันข้อเข่าเสื่อม
-                   บริหารกล้ามเนื้อบริเวณรอบๆ ข้อให้แข็งแรง เช่น บริหารกล้ามเนื้อหน้าขา 2 ข้าง โดยการยกขาขึ้นและเกร็งไว้สักครู่ ควรทำบ่อยๆ เพื่อป้องกัน หรือชะลอข้อเข่าเสื่อม
4. ภาวะสมองเสื่อม
ภาวะที่ความสามารถทางสติปัญญาลดลง คิดและจำไม่ได้ มักพบในผู้สูงอายุ ทำให้มีอาการหลงลืมการใช้ภาษาผิดปกติ พฤติกรรมและอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย
อาการ
อาการเริ่มแรก จะลืมเรื่องราวที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ไม่นาน ในขณะที่ความจำเรื่องในอดีตจะยังดีอยู่ ผู้ป่วยอาจถามซ้ำเรื่องที่เพิ่งจะบอกไป หรือพูดซ้ำเรื่องที่เพิ่งเล่าให้ฟัง อาการอื่นๆ เช่น วางของแล้วลืม ทำสิ่งที่เคยทำประจำไม่ได้ สับสนเรื่องวัน เวลา สถานที่ นึกคำพูดไม่ค่อยออกหรือใช้คำผิดๆ อารมณ์ พฤติกรรมและบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงจากเดิม การตัดสินใจแย่ลง ไม่มีความคิดริเริ่มใหม่ๆ อาการต่างๆ เหล่านี้จะสะสมมากขึ้น จนมีผลต่อการทำงานและกิจวัตรประจำวัน ซึ่งการที่พบการเปลี่ยนแปลงได้เร็วหรือช้า ขึ้นกับระดับความสามารถเดิมการศึกษาและหน้าที่เดิมของผู้สูงอายุ รวมถึงการช่างสังเกตและเอาใจใส่ของญาติด้วย
ข้อแนะนำ
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันโรคนี้ อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติตัวบางอย่าง จะช่วยให้สมองมีความจำที่ดีได้ ได้แก่
1)        หลีกเลี่ยงยาหรือสาร ที่ทำอันตรายสมอง เช่น ดื่มเหล้าจัด กินยาโดยไม่จำเป็น
2)        ฝึกสมอง ได้แก่ ฝึกให้สมองได้คิดบ่อยๆ เช่น อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ คิดเลข ดูเกมส์ตอบปัญหาฝึกหัดการใช้อุปกรณ์ใหม่ๆ เป็นต้น
3)        ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 3–5 ครั้ง เช่น เดินเล่น รำมวยจีน เป็นต้น
4)        พูดคุยพบปะผู้อื่นบ่อยๆ เช่น ไปวัดหรือร่วมกิจกรรมของชมรมผู้สูงอายุ เป็นต้น
5)        ตรวจสุขภาพประจำปี
6)        ระมัดระวังอุบัติเหตุต่อสมอง ระวังหกล้ม เป็นต้น
7)        มีสติในสิ่งต่างๆ ที่กำลังทำ และฝึกสมาธิตลอด
8)        ไม่คิดมาก ไม่เครียด ทำกิจกรรมคลายเครียด
5. หลอดเลือดหัวใจตีบ
อาการที่ควรรู้
เจ็บแน่นหน้าอก มีลักษณะจำเพาะ คือ เจ็บตื้อๆ แน่นๆ หรือหนักๆ เจ็บที่กลางอก ใต้กระดูกหน้าอกหรือทางซ้ายบริเวณหัวใจ อาจร้าวไปที่ข้อศอก หรือ แขน คอ กราม เจ็บนาน 3-5 นาที ถ้าเจ็บนานเกิน 30 นาทีอาจเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้ ซึ่งมีอาการ
1.             เหงื่อออก ใจสั่น หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม
2.             เหนื่อย หายใจลำบาก
3.             หัวใจวาย หมดสติถึงแก่ชีวิต
ข้อแนะนำ
1)                 กินอาหารให้พอดีกับความต้องการของร่างกายให้ครบ 5 หมู่ อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงได้แก่ อาหารไขมันสูง เค็มจัด หวานจัด
2)                ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยให้หัวใจและหลอดเลือดทำงานได้ดี
3)                ควบคุมเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ให้น้ำตาลในเลือดและความดันโลหิตปกติ
4)                ทำจิตใจให้ร่าเริง แจ่มใสเสมอ ไม่เครียด
5)                ตรวจสุขภาพประจำปี
6)                ควบคุมไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
7)                งดบุหรี่ เหล้า และสารเสพติดทุกชนิด
8)                ลดน้ำหนัก ถ้าอ้วนลงพุง
6. โรคมะเร็ง
โรคมะเร็งที่พบบ่อยในประเทศไทย ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งช่องปาก มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งผิวหนัง
การป้องกันโรคมะเร็ง
-               รับประทานอาหารที่มีประโยชน์แก่ร่างกาย ควรรับประทานอาหารที่มีกากใยมาก รับประทานผักและผลไม้เป็นประจำ จำกัดอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงจากเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนมและอาหารปรุงสำเร็จนอกจากนั้นควรหลีกเลี่ยงอาหารพวกปิ้ง ย่าง รมควัน เนื่องจากมีสารก่อมะเร็งในปริมาณมาก
-               หยุดสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ สำหรับโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น โรคมะเร็งปอดโรคมะเร็งช่องปาก โรคมะเร็งโพรงจมูก เป็นต้น
-               ลดน้ำหนักในกรณีที่อ้วน เนื่องจากน้ำหนักตัวที่เกินเป็นปัจจัยเสี่ยง ต่อการเกิดโรคมะเร็งบางชนิด ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งเยื่อบุมดลูก
-               หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์เป็นปริมาณมาก เนื่องจากแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งตับมะเร็งหลอดอาหาร และมะเร็งในช่องปาก
-               หลีกเลี่ยงการอาบแดดหรือถูกแดดจัด เนื่องจากอาจทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง ควรหลีกเลี่ยงการถูกแดดช่วง 10.00–16.00 . ใช้ครีมกันแดดที่มี SPF อย่างน้อย 15 สวมใส่เสื้อผ้าที่รัดกุม และสวมแว่นกันแดด
-               ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน เนื่องจากการที่ไม่ออกกำลังกาย มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งเต้านม อย่างน้อยควรออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างน้อย 30 นาทีต่อครั้ง สัปดาห์ละ 3 ครั้ง และพยายามเปลี่ยนกิจกกรมที่ทำอยู่แล้ว เป็นการออกกำลังกาย เช่น เดินขึ้นบันได แทนการใช้ลิฟต์จอดรถไกลกว่าที่จอดเดิม และใช้การเดินแทน เป็นต้น
-               หลีกเลี่ยงจากรังสีและสารเคมีในที่ทำงานและที่บ้าน โดยคอยอ่านคำเตือนของเอกสาร ที่แนบมากับผลิตภัณฑ์เสมอ
-               ตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี และปฏิบัติตามคำแนะนำ ในการตรวจเพิ่มเติมของแพทย์ เช่น ตรวจแป๊บสเมียร์ (Pap’s smear) ทุกปีเพื่อหามะเร็งปากมดลูกในระยะแรก ฝึกการตรวจเต้านมด้วยตนเอง เป็นประจำทุกเดือน และตรวจโดยแพทย์ทุก 1 ปี เป็นต้น
-               หลีกเลี่ยงจากการใช้ของมีคมร่วมกับผู้อื่น ไม่เที่ยวสำส่อน หรือถ้าไม่แน่ใจควรใช้ถุงยางอนามัยตรวจเลือดว่ามีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือยัง ถ้ายังไม่มีควรฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเนื่องจากเป็นสาเหตุ ที่สำคัญของการเกิดโรคมะเร็งตับ ในรายที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบีหรือซี ควรติดตามตรวจกับแพทย์เป็นระยะทุก 6 เดือน
-               ในกรณีที่ เคยรับประทานปลาดิบ อาศัยหรือเคยอาศัยอยู่ในภาคอีสาน หรือในชุมชนที่มีผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีตับ หรือมีประวัติมะเร็งท่อน้ำดีในครอบครัว ควรรับการตรวจอุจจาระเพื่อหาไข่พยาธิใบไม้ในตับเนื่องจากมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดี
คอยสังเกตอาการผิดปกติของร่างกายและรีบไปพบแพทย์หากมีอาการผิดปกติดังต่อไปนี้
-               มีการเปลี่ยนแปลงในการย่อยอาหาร และการขับถ่ายอย่างเรื้อรัง เช่น ท้องผูกสลับท้องเสียปัสสาวะเป็นเลือด เป็นต้น
-               มีเลือดออกผิดปกติ เช่น ทางช่องคลอด หรือเลือดกำเดาไหลบ่อยๆ
-               มีแผลเรื้อรังไม่หายใน 3 สัปดาห์
-               มีก้อนที่เต้านมหรือตามตัว ไฝโตขึ้นหรือเปลี่ยนสี
-               ไอเรื้อรังหรือเสียงแหบ
-               น้ำหนักลดโดยไม่ตั้งใจ
-              หูอื้อเรื้อรัง
7. โรคตาในผู้สูงอายุ
ในขณะที่คนเรามีอายุมากขึ้น กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ยืดหดเลนส์ลูกตา จะอ่อนกำลังลงทำให้ลำบากในการเพ่งดูสิ่งของ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุเล็กๆ โดยสายตาจะยาวออก และคนที่มีประวัติสายตาสั้นเวลามองสิ่งของใกล้ๆ กลับต้องถอดแว่นตาออก เมื่อสูงอายุ ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เป็นธรรมดาของร่างกายมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละคน วิธีป้องกันไม่ให้สายตาเสื่อมเร็ว
1)            ไม่อยู่ในที่มีแสงสว่างมาก เช่น ถ้าแสงแดดจ้าควรใส่แว่นกันแสง
2)            รับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ การขาดวิตามินเอ ขาดโปรตีนทำให้ตาเสื่อมเร็ว
3)            ระวังอย่าให้แสงแดด หรือแสงเชื่อมโลหะเข้าตาต้องใช้แว่นกันแสง
4)            การดูทีวี ต้องนั่งระยะห่าง 5 เท่า ของขนาดจอโทรทัศน์ จึงจะไม่เกิดอันตราย เพราะภาพจะตกที่จะรับภาพพอดีโดยไม่ต้องเพ่ง
5)            ผู้สูงอายุควรใช้แว่นตาช่วยสำหรับอ่านหนังสือระยะใกล้ มิฉะนั้นจะมีอาการปวดตา และปวดศีรษะเพราะเพ่งสายตามาก
โรคตาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ มีดังนี้
โรคต้อกระจก โรคตาที่เป็นกันมากที่สุดในผู้สูงอายุคือ ต้อกระจก เมื่ออายุมากขึ้น แก้วตาจะเปลี่ยนจากสีใสๆ เป็นสีน้ำตาล หรือสีขาวขุ่นมาขึ้นเรื่อยๆ ทำให้แสงผ่านเข้าไปในตาไม่ได้มีผลทำให้ตามัวลงๆ
อาการ
1)             ตามัวลงเรื่อยๆ โดยในระยะแรกๆ นั้นตาจะมัวเฉพาะเวลาออกแดด พอเข้าที่สลัวๆ จะมองเห็นได้ดีกว่า พอเป็นมากขึ้นก็จะมัวทั้งในที่สว่างและสลัว จนในที่สุดจะมองเห็นแค่แสงไฟ และสามารถบอกได้แต่ทิศทางของแสงที่ส่องเข้าตาเท่านั้น
2)             เมื่อต้อแก่มากขึ้น รูม่านตาซึ่งเดิมมีสีดำสนิทจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่น หรือสีน้ำตาลขุ่น
สาเหตุ
1)            โดยทั่วไปเป็นการเปลี่ยนแปลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น
2)            เกิดจากพิษของยาบางส่วน เช่น การใช้ยาพวกสเตียรอยด์นานๆ ยาฆ่าปลวกบางชนิด
3)            การขาดสารบางชนิด เช่น แคลเซียม
4)            โรคบางโรคทำให้เกิดต้อกระจกเร็วขึ้น เช่น เบาหวาน ฯลฯ
5)            อุบัติเหตุ มีการกระแทก หรือมีบาดแผลทะลุที่กระจกตาดำ
6)            เป็นแต่กำเนิด อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ หรือเกิดในเด็กที่มารดาเป็นหัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก
การรักษา
โรคต้อกระจกนี้สามารถรักษาได้โดยการลอกต้อกระจก ซึ่งทำให้เฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น เมื่อลอกต้อกระจกออกแล้วใส่แว่นผู้ป่วยจะกลับเห็นชัดได้โดยใช้ยาฉีดเฉพาะที่ไม่ต้องดมยาสลบ ทำเสร็จแล้วต้องนอนรักษาอยู่ในโรงพยาบาลระยะหนึ่ง
ข้อควรปฏิบัติ
ถ้าคิดว่าเป็นต้อกระจกในระยะแรก ควรได้รับการตรวจจากแพทย์ เพื่อให้แน่ใจว่า สายตาที่มัวลงนั้นเป็นเพราะต้อกระจกจริง ไม่ใช่เกิดจากโรคอื่น เช่น ต้อหินเรื้อรัง หรือโรคของจอประสาทตา ถ้าพบว่าต้อกระจกอยู่ในระยะที่สุกแล้ว คือ รูม่านตามีสีขุ่นขาว หรือสีน้ำตาลเข้มแล้วควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการลอกต้อกระจกออกก่อนที่จะมีโรคแทรกซ้อน
ข้อเสียถ้าปล่อยไว้จนสุกเกินไป
1.             ทำให้เกิดต้อหิน ซึ่งมีอาการปวดตาและทำให้ตาบอดสนิทได้โดยไม่มีทางแก้ไข
2.             ทำให้เป็นโรคม่านตาอักเสบแทรกขึ้นมาได้
3.             ทำให้การผ่าตัดลอกต้อออกยากขึ้น มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนหลังผ่าตัดได้มากขึ้น
หมายเหตุ อันตรายที่เกิดจากการรักษาที่ไม่ถูกวิธี
ในปัจจุบัน มีหมอชาวบ้านรักษาต้อกระจก โดยใช้เข็มทิ่มแทงให้แก้วตาตกไปอยู่ในลูกตาส่วนหลัง ซึ่งผู้ป่วยอาจจะมองเห็นได้ทันที แต่จะตาบอดในเวลาต่อมาภายใน 6 เดือน หรือ 1 ปี นอกจากตาบอดแล้วจะมีอาการปวดร่วมด้วย จึงควรแนะนำประชาชนให้ทราบเพื่อจะไม่ได้หลงผิด ไปรักษาด้วยวิธีดังกล่าว
โรคต้อหิน คือโรคที่เกิดจากภาวะความดันในลูกตาสูงกว่าปกติ ภายในลูกตาของคนเรา จะมีการผลิตหรือสร้างน้ำใสชนิดหนึ่ง ออกมาอยู่ในช่องหลังม่านตา แล้วไหลผ่านรูม่านตาออกมาอยู่ในช่องหน้าม่านตาต่อจากนั้นน้ำในนี้ก็จะไหลผ่านรูตะแกรงเล็กๆ เข้าสู่เส้นเลือดดำของลูกตา จึงทำให้ความดันลูกตาคงที่อยู่ตลอดเวลา ถ้ามีอะไรขัดขวางทางเดินของน้ำในลูกตา จะเกิดการคั่งของน้ำภายในลูกตาทำให้ความดันภายใน
ลูกตาสูง เรียกว่า ต้อหิน ต้อหิน มี 2 ชนิด
1.         ต้อหินแบบเฉียบพลัน เกิดจากการไหลเวียนของน้ำใสในลูกตาไม่สะดวกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้มีอาการตาแดง รูม่านตาขยาย ปวดตามาก คลื่นไส้ อาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย จะเห็นสีรุ้งรอบดวงไฟสายตาจะมัวลงอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ได้รักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที จะทำให้ตาบอดได้ภายใน 2-3 วัน
2.         ต้อหินชนิดเรื้อรัง เกิดจากความเสื่อมของทางไหลผ่านของน้ำใสภายในลูกตาต้อหินชนิดนี้ไม่มีอาการเจ็บปวด เกิดขึ้นช้าๆ โดยไม่รู้ตัว สายตาจะค่อยๆ มัวลง จากขอบเขตของการมอง

การป้องกัน
ผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจตาจากจักษุแพทย์ เพื่อให้แน่ใจว่าความดันภายในลูกตาอยู่ในระดับปกติอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง นอกจากนั้นควรถนอมดวงตาให้ดีที่สุด หลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือนต่างๆ เมื่อมีอาการผิดปกติของตาควรพบจักษุแพทย์โดยเร็วที่สุด ไม่ควรหยอดตาด้วยยาสเตียรอยด์โดยแพทย์มิได้สั่ง เพราะยาประเภทนี้ทำให้ความดันภายในลูกตาสูงกว่าปกติ
การรักษา
ต้อหินเป็นโรคที่ร้ายแรงทำให้ตาบอดได้ในเวลาอันรวดเร็ว จึงควรพบจักษุแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยเร็วที่สุด ถ้าเป็นมากจนประสาทตาเสียไปแล้ว สายตาจะไม่กลับคืนมา นอกจากการรักษาเบาหวานให้หายแล้ว (ในรายที่เป็นเบาหวานร่วมด้วย) จักษุแพทย์จะรักษาด้วยแสงเลเซอร์ เพื่อช่วยป้องกันให้โรคลุกลามมากขึ้น และเพื่อความแน่นอนและปลอดภัยของดวงตาควรปรึกษาจักษุแพทย์เมื่อมีอาการเหล่านี้
1.             เห็นอะไรลอยไปลอยมาในลูกตา เกิดจากความเสื่อมของน้ำวุ้นในลูกตา
2.             เห็นแสงแวบๆ ในลูกตา แสดงว่ามีอะไรไปกระตุ้นประสาทจอรับภาพ ทำให้เกิดแสงสว่างเป็นการเตือนว่าประสาทตาหลุด
3.             การที่มีน้ำตาไหลเป็นประจำ เกิดจากมีการระคายเคืองของเนื้อเยื่อหุ้มตา ความดันลูกตาสูงการเสื่อมของเยื่อหุ้มตา และการอุดตันของท่อทางเดินน้ำในตา
4.             ตามัว อาจจะเกิดจากโรคเบาหวานซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตาบอด โรคเบาหวาน ถ้าเกิดระยะเวลายิ่งนาน ยิ่งทำให้จอรับภาพถูกทำลายมาก จนในที่สุดตาจะบอดสนิท
การรักษา
1)            ไม่มีการรักษาที่สามารถทำให้การมองเห็นกลับคืนมาเท่าคนปกติ แต่สามารถชะลอไม่ให้โรคแย่ลงได้
2)            ในปัจจุบัน โรคต้อหินส่วนใหญ่สามารถรักษาด้วยยา ลดความดันตาเพื่อป้องกันการทำลายเส้นประสาทตา โดยผู้ป่วยจะต้องมารับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ
3)            การรับประทานวิตามินเสริม C, E, Zinc, lutein, zeaxanthin ไม่ช่วยป้องกันในผู้ที่ไม่เป็นโรคแต่ช่วยชะลอโรคในผู้ที่เป็นโรคแล้ว
โรคสายตายาวในผู้สูงอายุ (presbyopia)
มักเกิดหลังอายุ 40 ปี เกิดจากเลนส์ตาที่แข็งขึ้น สูญเสียความสามารถในการปรับการมองใกล้ และไกลดังนั้นผู้ป่วยมักต้องถือหนังสือไกลขึ้นจึงจะอ่านได้ชัด โดยอาการจะเกิดขึ้นกับทุกคน ทั้งสายตาสั้น ยาว และปกติ โดยพบว่าผู้ที่มีสายตายาวอาจเกิดอาการเร็วกว่าปกติ วิธีรักษา ปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อตัดแว่น ตาสำหรับอ่านหนังสือ
โรคตาแห้ง (dry eye)
มักเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เริ่มเมื่อวัยกลางคน สัมพันธ์กับภาวะเปลือกตาอักเสบ และโรคทางกายบางชนิด เกิดจากการผลิตน้ำตาที่น้อยลง ผู้ป่วยจะมีอาการเคืองเหมือนมีฝุ่นผงในตา มักเป็นมากขึ้นเมื่ออยู่ในที่แห้งหรือห้องแอร์ อาจมีขี้ตาเหนียว การมองเห็นไม่ชัดต้องกระพริบตาบ่อยๆ ในผู้ป่วยบางคนอาจเคืองตาแล้วมีน้ำตาไหลมากขึ้นได้ เมื่อมีอาการควรพบจักษุแพทย์
การรักษา
ในระยะเริ่มแรกใช้น้ำตาเทียม เมื่ออาการเป็นมากขึ้นควรปรึกษาจักษุแพทย์ การดูแลตัวเอง หลีกเลี่ยงลม ฝุ่น ถ้าอยู่ในห้องแอร์หรืออากาศแห้งอาจหาแก้วใส่น้ำอุ่นวางไว้เพื่อให้มีความชื้นในอากาศ รักษาโรคเปลือกตาอักเสบ และโรคทางกายอื่นๆ
โรคจุดรับภาพเสื่อมในผู้สูงอายุ (AMD : Age Related Macular Degeneration)
เกิดจากการทำลายบริเวณจุดศูนย์กลางของการรับภาพ และสี โดยไม่ทราบสาเหตุการเสื่อมที่แน่นอนปัจจัยเสี่ยง ที่สำคัญ คือ
-                   ผู้สูงอายุ พบว่าอัตราการเกิดโรคในคนอายุ 75 ปี มีถึง 30% เมื่อเทียบกับ 2% ในคนอายุ 50 ปี
-                   การสูบบุหรี่
-                   การสัมผัสแสงอาทิตย์และแสง UV ปริมาณมาก
-                   ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ
อาการของโรค
ได้แก่ ภาพมัว บิดเบี้ยว สีจางลง มีปัญหาในการอ่าน หรือจำหน้าคน เห็นจุดดำอยู่กลางภาพ การรักษาโรค ไม่มีการรักษาที่หายขาด แต่การรักษาจะช่วยชะลอการเกิดโรคที่มากขึ้น ในระยะแรกอาจให้วิตามินแต่การดำเนินโรคก็อาจเป็นมากขึ้นได้ โดยในระยะหลัง อาจร่วมกับการรักษาด้วยเลเซอร์ หรือฉีดยาเข้าในลูกตา
การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคตาในผู้สูงอายุ
1)            ผู้สูงอายุจึงควรตรวจตาเป็นประจำทุกปี และเมื่อมีการมองเห็นภาพที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวควรรีบมาพบจักษุแพทย์
2)            หยุดสูบบุหรี่
3)            สวมแว่นตากันแดด
4)            รักษาโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือด
5)            รับประทานผักผลไม้ อาหารครบ 5 หมู่
แหล่งข้อมูล :
-                   คู่มือปฏิบัติงานสำหรับ อสม.เพื่อผู้สูงวัย สายใยรักครอบครัว ชุมชน, สำนักส่งเสริมสุขภาพกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, พิมพ์ครั้งที่ 1 มิถุนายน 2552.
-                   ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย, www.rcopt.org/news-public-70.html รศ.นพ. พีระ บูรณะกิจเจริญ, ชมรมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย.


ความคิดเห็น